top of page
IMG_3564 (002).jpg

Basic Meditation Instruction

 


 

 

การฝึกวิปัสสนากรรมฐาน

 

การฝึกวิปัสสนากรรมฐานหรือการอบรมจิต เป็นความพยายามของผู้ทำสมาธิที่จะเข้าใจอย่างถูกต้องถึงธรรมชาติของปรากฏการณ์ทางจิต-กาย ที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของผู้ปฏิบัติ ปรากฏการณ์ทางกายเป็นภาวะหรืออารมณ์รอบกาย ซึ่งบุคคลรับรู้ได้อย่างชัดเจน ร่างกายตลอดทั้งร่างของบุคคลที่บุคคลนั้นรับรู้ได้อย่างชัดเจนประกอบด้วยกลุ่มของลักษณะทางวัตถุ เรียกว่า รูป ส่วนปรากฏการณ์ทางจิตหรือเกี่ยวกับจิต คือการกระทำของสติหรือสัมปชัญญะ เรียกว่า นาม ซึ่ง รูป นาม เหล่านี้จะถูกรับรู้ได้อย่างชัดเจนว่า จะเกิดขึ้นเมื่อใดที่มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น  ได้รู้รส ได้สัมผัส หรือได้ถูกคิดถึง

เราจึงต้องทำตัวของเราให้ระลึกถึงสิ่งเหล่านี้โดยการสังเกตพร้อมทั้งกำหนดรู้ว่า “เห็นหนอ” “ได้ยินหนอ” “ได้กลิ่นหนอ”  “รู้รสหนอ รู้รสหนอ” “ถูกหนอ ถูกหนอ” หรือ “คิดถึงหนอ คิดถึงหนอ” ทุกครั้งที่บุคคลได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้สัมผัส หรือได้คิดถึง ควรกำหนดรู้ถึงความจริงที่ปรากฏ แต่ในระยะเริ่มต้นของการปฏิบัติบุคคลนั้นจะไม่สามารถกำหนดรู้ถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรเริ่มต้น ด้วยการกำหนดรู้ ถึงสิ่งที่เด่นชัดและง่ายต่อการรับรู้ก่อน

ทุกครั้งที่หายใจ ท้องจะพองและยุบ สามารถสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา ภาวะนี้เป็นลักษณะทางวัตถุที่เรียกว่า วาโยธาตุ ซึ่งเป็นธาตุของการเคลื่อนไหว บุคคลควรเริ่มโดยการกำหนดรู้ถึงการเคลื่อนไหวนี้ ซึ่งอาจจะกระทำได้โดยจิตตั้งใจสังเกตอยู่ที่ท้อง จะเห็นว่าท้องพองเมื่อหายใจเข้าและยุบเมื่อหายใจออก ควรกำหนดรู้ “พองหนอ” เมื่อท้องพอง และ “ยุบหนอ” เมื่อท้องยุบ

ถ้าการกำหนดรู้ด้วยจิตไม่สามารถรับรู้การเคลื่อนไหวที่ท้องให้ใช้ฝ่ามือแตะที่ท้อง แต่อย่าควบคุมเปลี่ยนแปลง ลักษณะการหายใจ ไม่ว่าจะหายใจให้ช้าลงหรือให้เร็วขึ้น อย่าหายใจแรงเกินไป เพราะจะทำให้เหนื่อย ให้หายใจอย่างสม่ำเสมอตามปกติและกำหนดรู้การพองและยุบของท้อง กำหนดรู้ด้วยใจไม่ต้องออกเสียง

ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน คำที่เราใช้เรียกหรือพูดนั้นไม่สำคัญสิ่งที่สำคัญคือการรู้หรือรับรู้ ขณะที่กำหนดรู้ การพองของท้องให้ทำตั้งแต่ท้องเริ่มพองจนถึงขณะสุดท้ายของการพองเสมือนว่าได้เห็นการพองนั้นด้วยสายตา และให้ทำเช่นเดียวกันนี้กับการยุบ การกำหนดรู้การพองให้กำหนดรู้ในลักษณะที่การระลึกรู้นั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการเคลื่อนไหวของท้อง ซึ่งการเคลื่อนไหวและการรับรู้ของจิตควรเป็นไปในลักษณะที่ทับกันสนิทเหมือนกับก้อนหินที่ถูกปากระทบเป้าและทำเช่นเดียวกันนี้กับการยุบของท้อง

จิตของท่านอาจจะล่องลอยไปยังที่อื่น ในขณะที่กำลังกำหนดรู้ถึงการเคลื่อนไหวของท้อง จึงต้องระลึกรู้ด้วยจิตว่า “ฟุ้งหนอ ฟุ้งหนอ” เมื่อมีการกำหนดรู้ถึงภาวะนี้ครั้งหรือสองครั้ง จิตจะหยุดล่องลอย เมื่อเป็นดังนี้ให้กลับไปกำหนดรู้การพองและการยุบของท้องต่อ ถ้าจิตได้ไปถึงแห่งหนใด ให้กำหนดรู้ “ถึงหนอ ถึงหนอ” แล้วกลับไปที่การพอง และการยุบของท้อง ถ้าจินตนาการว่ากำลังพบใครอยู่ให้กำหนดรู้ว่า “พบหนอ พบหนอ” แล้วกลับไปที่การพอง และการยุบ ถ้าจินตนาการว่ากำลังพบและกำลังคุยอยู่กับใครให้กำหนดรู้ว่า “คุยหนอ คุยหนอ”

 

IMG_9897 (002)_edited.jpg

สรุปได้ว่าไม่ว่ามีความคิดหรือปฏิกิริยาใดๆเกิดขึ้น ควรกำหนดรู้ถึงภาวะนั้น ถ้าจินตนาการ ได้กำหนดรู้ว่า “จินตนาการหนอ” ถ้าคิดให้กำหนดรู้ว่า “คิดหนอ” ถ้าวางแผน ให้กำหนดรู้ว่า “วางแผนหนอ” ถ้ารับรู้ให้กำหนดรู้ว่า “รับรู้หนอ” ถ้าไตร่ตรอง ให้กำหนด “ไตร่ตรองหนอ” ถ้ามีความสุขให้กำหนดรู้ว่า “สุขหนอ” ถ้ารู้ว่าเบื่อ ให้กำหนดรู้ว่า “เบื่อหนอ” ถ้ารู้สึกยินดี ให้กำหนดรู้ว่า “ยินดีหนอ” ถ้ารู้สึกท้อใจ ให้กำหนดรู้ว่า “ท้อหนอ” การกำหนดรู้ภาวะที่เกิดขึ้นทั้งปวงอย่างมีสตินี้เรียกว่า จิตตานุปัสสนา

            เนื่องจากเรา ไม่ได้กำหนดรู้ภาวะเหล่านี้ เราจึงมีแนวโน้มที่จะโยงภาวะเหล่านี้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือใครคนใดคนหนึ่ง เรามีแนวโน้มที่จะคิดว่าเป็นตัวเราเองที่ “กำลังจินตนาการ กำลังคิด กำลังวางแผน กำลังรู้หรือกำลังรับรู้” เราคิดว่ามีคนคนหนึ่งผู้ที่ตั้งแต่วัยเด็กเป็นต้นมากำลังมีชีวิตอยู่และกำลังคิดอยู่ แท้ที่จริงแล้วไม่มีคนคนนั้นปรากฏในโลกนี้อยู่ แต่กลับมีเฉพาะการกระทำที่กำลังดำเนินอยู่และดำเนินอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องระลึกรู้ถึงภาวะแต่ละภาวะ และภาวะทุกภาวะที่ปรากฏขึ้น เมื่อถูกระลึกรู้ ภาวะนั้นก็มีแนวโน้มที่จะหายไป เราจึงจะกลับไปกำหนดรู้ถึงการพองและการยุบของท้องต่อได้

            เมื่อนั่งทำสมาธิเป็นเวลานาน ความรู้สึกถึงอาการเหน็บชาและความร้อนจะเกิดขึ้นในร่างกาย ความรู้สึกเหล่านี้ต้องถูกกำหนดรู้อย่างระมัดระวังด้วย เช่นเดียวกันกับความรู้สึกปวดเมื่อยและอ่อนล้า ความรู้สึกเหล่านี้คือ ทุกขเวทนา ซึ่งเป็นความรู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจ และการกำหนดรู้ความรู้สึกเหล่านี้เป็น เวทนานุปัสสนา

            ความล้มเหลวหรือการละเลยที่จะกำหนดรู้ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้ตัวเรามีความคิดว่า “ฉันเป็นเหน็บ” “ฉันกำลังรู้สึกร้อน” “ฉันปวดเมื่อย” “ฉันยังปกติดีเมื่อชั่วครู่ที่ผ่านมา ตอนนี้ ฉันไม่เป็นสุขกับความรู้สึกที่ไม่น่ายินดี” การใช้อัตตา แยกแยะความรู้สึกเหล่านี้เป็นความผิดพลาด แท้ที่จริงแล้ว “ฉัน” นั้นไม่มี จะมีก็เพียงแต่ความรู้สึกที่ไม่น่ายินดีอันใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่อันเก่าที่หายไปเท่านั้น เปรียบได้กับการเกิดของประจุไฟฟ้ามีความสว่างอยู่ได้ ทุกครั้งที่ได้สัมผัสกับความไม่น่ายินดีที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ความรู้สึกไม่น่ายินดีใหม่จะเกิดขึ้นมาแทนความรู้สึกเก่าที่ดับไปอันแล้วอันเล่าจึงควรระลึกรู้ถึงความรู้สึกเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกของเหน็บชาความร้อน หรือความปวดเมื่อย

 

            ในตอนเริ่มต้นที่โยคีฝึกทำสมาธิ ความรู้สึกเหล่านี้อาจจะเพิ่มมากขึ้นและนำไปสู่ความปรารถนาที่จะเปลี่ยนท่าปฏิบัติ ความปรารถนานี้ควรต้องถูกระลึกรู้ ต่อจากนั้นโยคีควรจะกลับไปกำหนดรู้ ความรู้สึกเป็นเหน็บชา ความร้อน

            ความอดทนจะนำไปสู่ พระนิพพาน ตามคำที่กล่าวไว้ คำกล่าวนี้มีความเกี่ยวข้องมากที่สุดกับความพยายามในการทำสมาธิ โยคีต้องมีความอดทนในการทำสมาธิ ถ้าขยับหรือเปลี่ยนท่าบ่อยครั้งเกินไปเพราะไม่สามารถทนกับความรู้สึกของเหน็บชาหรือความร้อนที่เกิดขึ้นได้ ก็จะไม่สามารถพัฒนา สมาธิ หรือความตั้งมั่นที่ดีของจิต ถ้าสมาธิไม่พัฒนา ก็จะไม่มีความรู้แจ้งเกิดขึ้น และจะไม่สามารถบรรลุ มรรค --เส้นทางที่นำไปสู่ พระนิพพาน ผล – ผลของเส้นทางนั้นและ พระนิพพาน ได้ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมความอดทนจึงจำเป็นต่อการทำสมาธิ

            ความอดทนส่วนใหญ่นั้นคือความอดทนกับความรู้สึกที่ไม่น่ายินดีในร่างกายได้แก่ อาการชา ความร้อน และความปวดเมื่อย ตลอดจนความรู้สึกอื่นๆที่ยากจะฝืนทนได้ โยคีจึงไม่ควรที่จะยอมแพ้ในทันทีที่ความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะฝึกสมาธิ และไม่ควรที่จะเปลี่ยนท่าในการทำสมาธิ แต่ควรทำสมาธิต่อไปด้วยความอดทน โดยเพียงแต่กำหนดรู้ “ชาหนอ” หรือ “ร้อนหนอ-ร้อนหนอ” ความรู้สึกรุนแรงอย่างปานกลางที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะหายไปถ้ากำหนดรู้ต่อไปด้วยความอดทน เมื่อความตั้งใจเป็นไปด้วยดีและมีความเข้มแข็งแม้แต่ความรู้สึกที่รุนแรงมากก็มักจะหายไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ให้กลับไประลึกรู้ถึงการพองและการยุบของท้อง

            โยคีจะต้องเปลี่ยนท่าการทำสมาธิ ถ้าความรู้สึกนั้นไม่หายไปแม้ว่าจะได้กำหนดรู้ถึงภาวะนั้นเป็นเวลายาวนาน หรือถ้าไม่สามารถที่จะทนต่อภาวะนั้นได้ โยคีจึงควรเริ่มต้นกำหนดรู้ว่า “ยกหนอ-ยกหนอ” ถ้าแขนเคลื่อนไปให้กำหนดว่า “ไปหนอ-ไปหนอ” การเปลี่ยนท่านี้ควรทำอย่างนิ่มนวลพร้อมกับกำหนดรู้ “ยกหนอ” “ไปหนอ-ไปหนอ” “แตะหนอ-แตะหนอ” ถ้าลำตัวเอนให้กำหนดรู้ว่า “เอนหนอ-เอนหนอ” ถ้าเท้ายกขึ้นให้กำหนดรู้ “ยกหนอ” ถ้าเท้าเคลื่อนที่ให้กำหนดรู้ “ย่างหนอ” ถ้าเท้าวางลงให้ภาวนาว่า “ลงหนอ-ลงหนอ” ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีเพียงแต่การพักอย่างสงบนิ่งให้กลับไประลึกถึงการพองและการยุบของท้องต่อ

            จะไม่มีการหยุดพักการกำหนดรู้ในระหว่างการเจริญสมาธิจะมีแต่เพียงการกำหนดรู้ระหว่างภาวะที่เกิดก่อน และการกำหนดรู้ภาวะที่เกิดตามมา ระหว่าง สมาธิ ที่เกิดก่อนกับสมาธิที่เกิดตามมา

ระหว่าง สมาธิ ที่เกิดก่อนกับสมาธิที่เกิดตามมา อันจะก่อให้เกิดความแก่กล้าทางปัญญา มัคค และ ผลญาณ – ความรู้ถึงทางที่นำไปสู่การบรรลุพระนิพพาน และผลของมันจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการรวมตัวของโมเมนตัมนี้ กระบวนการเจริญสมาธิจะเหมือนกับการจุดไฟด้วยการถูแท่งไม้สองแท่งเข้าด้วยกันอย่างเต็มกำลังและไม่ท้อถอย เพื่อให้ถึงจุดชวาลจนเกิดเปลวไฟขึ้นมา การกำหนดรู้ในวิปัสสนากรรมฐานก็ควรดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ท้อถอยเช่นเดียวกัน ไม่มีการหยุดพักการกำหนดรู้ภาวะต่างๆที่อาจเกิดขึ้น

            ตัวอย่างเช่น ถ้ามีความรู้สึกคันและโยคีปรารถนาที่จะเกาเพราะยากที่จะทนได้ ให้กำหนดรู้ถึงทั้งความรู้สึกและความปรารถนาที่จะขจัดความรู้สึกนี้โดยไม่ต้องขจัดความรู้สึกด้วยการเกาในทันที ถ้าโยคีรักษาความเพียรในการกำหนดรู้ได้ โดยทั่วไปอาการคันก็จะหายไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ให้กลับไปที่การกำหนดรู้ถึงการพองและการยุบของท้องต่อ ถ้าอาการคันไม่หายไป โยคีก็ต้องขจัดมันด้วยการเกาอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ แต่ควรกำหนดรู้ถึงความปรารถนาที่จะเกานั้นก่อนที่จะเกา อิริยาบถทั้งหมดที่เคลื่อนไหวเพื่อขจัดความรู้สึกนี้ต้องถูกกำหนดรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัมผัส การดึง การดัน และการเกา และท้ายที่สุดให้กลับไปกำหนดรู้ ถึงการพองและการยุบของท้อง

            ทุกครั้งที่เปลี่ยนท่าในการทำสมาธิ ให้เริ่มด้วยการกำหนดรู้ถึงความตั้งใจหรือความปรารถนาที่จะเปลี่ยนท่าและให้กำหนดรู้ทุกอิริยาบถอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การลุกขึ้นจากท่านั่ง การยกแขน การเลื่อนและการยืดแขนให้ตรง ควรเปลี่ยนท่าในเวลาเดียวกับการกำหนดรู้อิริยาบถนั้นๆ เช่น ขณะที่ร่างกายเอนไปข้างหน้า ให้กำหนดรู้ ขณะที่ลุกขึ้นร่างกายจะเบาและตัวจะลุกขึ้น ทำจิตให้แน่วแน่ต่อภาวะนี้ กำหนดรู้ช้าๆว่า “ลุกหนอ-ลุกหนอ”

            โยคีควรปฏิบัติเสมือนหนึ่งว่าอ่อนแรงไร้กำลัง คนที่มีสุขภาพปกติสามารถที่จะลุกขึ้นได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วหรือลุกขึ้นทันทีทันใด ไม่เหมือนกับคนที่อ่อนเปลี้ยไร้กำลัง ที่ต้องทำอย่างช้าๆและนุ่มนวล เช่นเดียวกับคนที่อ่อนเปลี้ยไร้กำลัง ที่ต้องทำอย่างช้าๆและนุ่มนวล เช่นเดียวกับคนที่ปวดหลังจะต้องลุกขึ้นด้วยความนุ่มนวล ด้วยเกรงว่าจะทำให้ปวดและเจ็บ โยคีที่ฝึกสมาธิก็ต้องปฏิบัติเช่นนั้น คือต้องเปลี่ยนท่าอย่างค่อยเป็น ค่อยไป และนุ่มนวล การปฏิบัติเช่นนี้เท่านั้นที่จะทำให้สติ สมาธิ และปัญญาแก่กล้า

            ดังนั้นจึงต้องเริ่มต้นการเคลื่อนไหวด้วยความนิ่มนวลและค่อยเป็นค่อยไป เมื่อจะลุกขึ้นโยคีต้องทำอย่างนุ่มนวล คล้ายกับว่าไม่มีแรง ในขณะเดียวกันให้กำหนดรู้ว่า “ลุกหนอ-ลุกหนอ” ไม่ใช่แค่นี้เท่านั้นแม้ตาจะมองเห็นโยคีก็ต้องทำเสมือนหนึ่งว่าไม่เห็น และทำนองเดียวกันกับหูที่ได้ยิน ในขณะที่กำลังทำสมาธิโยคีต้องใส่ใจเฉพาะการกำหนดรู้เท่านั้น สิ่งที่ได้เห็นและได้ยินนั้นไม่ใช่สิ่งที่ต้องใส่ใจ ดังนั้นไม่ว่าจะมีสิ่งผิดปกติหรือมีสิ่งใดเกิดขึ้นซึ่งอาจจะได้เห็นหรือได้ยิน ก็ต้องปฏิบัติเสมือนหนึ่งว่าไม่ได้เห็นหรือไม่ได้ยินสิ่งเหล่านั้น ให้กำหนดรู้อย่างระมัดระวังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

IMG_9561 (002)_edited_edited.jpg

เมื่อจะเคลื่อนไหวร่างกาย โยคีควรจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเสมือนหนึ่งว่าไม่มีแรง อ่อนกำลัง ให้เคลื่อนที่แขนและขา งอหรือยืดอย่างนิ่มนวล เช่นเดียวกับการก้มและเงยศีรษะ อิริยาบถเหล่านี้ควรทำอย่างนุ่มนวล เมื่อจะลุกขึ้นจากท่านั่ง ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับกำหนดรู้ว่า

“ลุกหนอ-ลุกหนอ” เมื่อยืดตัวและยืนขึ้น ให้กำหนดรู้ว่า

“ยืนหนอ-ยืนหนอ” เมื่อมองไปที่นั่นที่นี่ ให้กำหนดรู้ว่า

“มองหนอ-มองหนอ” เมื่อเดินให้ระลึกถึงการก้าวว่าใช้เท้าขวาหรือเท้าซ้าย โยคีต้องรู้ตัวในการเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ตั้งแต่การยกเท้าจนกระทั่งการลดเท้าลงเหยียบ เมื่อต้องเดินเร็ว และเดินระยะไกล ให้กำหนดรู้การก้าวย่างของเท้าขวาและซ้าย เมื่อเดินอย่างช้าๆ หรือเดินจงกรม การเดินไปและกลับ ให้กำหนดรู้ถึงความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกล่าวคือ การยก การย่างและการเหยียบ

            การเริ่มต้นด้วยการกำหนดรู้การยกเท้าขึ้นและวางเท้าลงเหยียบนั้น โยคีต้องรู้ตัวถึงการยกขึ้นของเท้า ในทำนองเดียวกันขณะที่วางเท้าลงเหยียบ ต้องระลึกรู้ถึงน้ำหนักของเท้าที่กำลังวางลง ต้องเดินพร้อมกับกำหนดรู้ในแต่ละก้าว ของการเดินว่า “ยกหนอ-เหยียบหนอ” “ยกหนอ-เหยียบหนอ” การกำหนดรู้นี้จะกระทำได้ง่ายขึ้นหลังจากผ่านไปประมาณสองวัน แล้วจึงกลับไปกำหนดรู้การเคลื่อนที่สามขั้นตอน ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น คือ “ยกหนอ-ย่างหนอ-เหยียบหนอ” “ยกหนอ-ย่างหนอ-เหยียบหนอ”

ในตอนเริ่มฝึกใหม่การกำหนดเพียงสองขั้นตอนก็เพียงพอเมื่อเดินเร็วให้กำหนดรู้ “ขวา-ซ้าย” เมื่อเดินช้าให้กำหนดรู้ “ยกหนอ-เหยียบหนอ”

            ถ้าขณะที่กำลังเดินอยู่แล้วต้องการที่จะนั่งลงให้กำหนดรู้ว่า “อยากนั่งหนอ” “อยากนั่งหนอ” ขณะที่กำลังนั่งลง ให้ใส่ใจกับน้ำหนักของร่างกายที่นั่งลงไป เมื่อนั่งลงแล้ว ให้กำหนดรู้ถึงอิริยาบถที่เกี่ยวกับ การจัดขาและแขนให้เข้าที่ เมื่อไม่มีการเคลื่อนไหวดังกล่าวมีเพียงแต่การนั่งอยู่กับที่ให้พักร่างกายนิ่งๆ กำหนดรู้ถึงการพองและการยุบของท้องขณะที่กำหนดรู้นั้น ถ้าแขนขาเกิดเป็นเหน็บชา และเกิดรู้สึกร้อนในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ให้กำหนดรู้ถึงสภาวะนั้นๆแล้วกลับไปที่ “ยุบหนอ-พองหนอ”

            ในขณะที่กำหนดรู้นั้น หากมีความต้องการที่จะเอนตัวลงนอนขึ้นมา ให้กำหนดรู้ถึงภาวะนั้น รวมถึงอิริยาบถการเคลื่อนไหวของขาและแขนขณะที่เอนตัวนอน การยกแขนขึ้น การเคลื่อนไหวของแขน การวางข้อศอกลงบนพื้น การโยกลำตัว การยืดขา การยกลำตัวเพื่อเตรียมเอนตัวลงนอนอย่างช้าๆ การเคลื่อนไหวทุกอริยาบทเหล่านี้ต้องถูกกำหนดรู้ การกำหนดรู้ในทุกขณะแม้การเอนตัวลงนอนนี้สำคัญ เพราะโยคีสามารถเกิดปัญญาเห็นแจ้งคือ มัคคญาณ และ ผลญาณ ซึ่งเป็นความรู้อันจะนำไปสู่พระนิพพานและผลที่เกิดขึ้นเมื่อ สมาธิ ความตั้งมั่นของจิต และ ญาณ ความแจ่มแจ้ง แก่กล้าเข็มแข็งขึ้นปัญญาเห็นแจ้งนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ โดยอาจจะเกิดขึ้นได้แม้เพียงขณะที่งอแขน หรือยืดแขนก็ได้

            ภาวะนี้ได้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อพระอานนท์จะบรรลุ พระอรหันต์ พระอานนท์ได้เพียรพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะบรรลุพระอรหันต์ให้ได้ภายในคืนก่อนวันที่จะมีการประชุมสังคายนาพระธรรมเป็นครั้งแรกในพุทธศาสนาตลอดทั้งคืนท่านได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานซึ่งรู้จักกันในชื่อ กายคตาสติ การกำหนดรู้ถึงการก้าวเท้าขวาและซ้าย การยกการย่างและการเหยียบ การกำหนดรู้ถึงทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกภาวะความปรารถนาที่จะเดิน และความเคลื่อนไหวทางกายที่เกี่ยวข้องกับการเดิน แม้ว่าท่านได้ปฏิบัติเช่นนี้ตลอดทั้งคืนจนกระทั้งใกล้รุ่งเช้าท่านก็ยังไม่สามารถที่จะบรรลุพระอรหันต์ได้ เมื่อท่านตระหนักรู้ว่าได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานต้อยการเดินมากเกินไป เพื่อปรับสมดุลระหว่าง สมาธิ กับ วิริยะ ท่านควรจะเจริญวิปัสสนาในท่านอนสักชั่วขณะ ท่านจึงเข้าไปในกุฏิ นั่งลงบนอาสนะแล้วเอนกายลงนอน ในขณะที่กำหนดรู้ “เอนหนอ-เอนหนอ” ท่านก็ได้บรรลุ พระอรหันต์ ในทันทีทันใด

            ก่อนที่พระอานนท์มหาเถระจะเอนตัวลงนอน ท่านได้เป็นเพียง พระโสดาบัน เท่านั้น นั่นคือ “ผู้ถึงกระแส” หรือบุคคลที่บรรลุขั้นแรกของเส้นทางสู่ พระนิพพาน หรือ มรรค จากขั้นพระโสดาบัน ท่านยังคงทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง และได้บรรลุขั้น พระสกทาคามี ซึ่งเป็นขั้นที่จะกลับมาเกิดอีกครั้งเดียว หรือเป็นบุคคลที่บรรลุสู่ขั้นที่สามของมรรค จากนั้นในที่สุดได้บรรลุขั้น พระอรหันต์ ซึ่งเป็นสภาวะของอริยบุคคลที่บรรลุขั้นสุดท้ายของมรรค การบรรลุขั้นทั้งสามตามลำดับจนถึงขั้นสูงสุดนั้น ท่านใช้เวลาเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น

            ลองคิดถึงตัวอย่างที่พระอานนท์มหาเถระได้บรรลุพระอรหันต์จะเห็นว่าการบรรลุดังกล่าวอาจจะเกิด ขึ้นได้ทุกขณะ และไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมโยคีควรกำหนดรู้ ด้วยความเพียรตลอดเวลา ไม่ควรย่อหย่อนในการกำหนดรู้ เพราะคิดว่าเพียงชั่วประเดี๋ยวคงจะไม่มีผลอระไรนัก อิริยาบถทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับ การเอนกายลงนอนและการจัดแขนและขาให้เข้าที่ควรได้รับการกำหนดรู้ด้วยความรอบคอบและไม่ย่อหย่อน ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหว มีเพียงแต่ความนิ่งของร่างกาย ให้กลับไปกำหนดรู้ถึงการพองและการยุบของท้องต่อ

            แม้ว่าเวลาจะล่วงเข้าสู่ยามดึกและเป็นเวลาที่ควรนอน โยคีก็ไม่ควรที่จะเข้านอนและหยุดการกำหนดรู้ โยคีที่ปฏิบัติจริงจังและขะมักเขม้นอย่างแท้จริงควรทำด้วยความมีสติเสมือนหนึ่งว่ากำลังละทิ้งการนอนนั้นโดยสิ้นเชิง ควรจะเจริญสมาธิให้ต่อเนื่องจนหลับไป ถ้าการฝึกสมาธิเป็นไปด้วยดีและอยู่ในภาวะที่เหนือกว่าโยคีก็จะไม่หลับ ในทางตรงกันข้ามถ้าความง่วงอยู่ในภาวะที่เหนือกว่า โยคีก็จะหลับ ถ้ารู้สึกง่วงนอนให้กำหนดรู้ “ง่วงหนอ-ง่วงหนอ” ถ้าหนังตาปรือหลุบลงให้กำหนดรู้ว่า “ปรือหนอ-ปรือหนอ” ถ้ารู้สึกหนังตาหนักหรือหนักอึ้งให้กำหนดรู้ว่า “หนักหนอ-หนักหนอ” ถ้ารู้สึกแสบตาให้กำหนดรู้ว่า “แสบตาหนอ-แสบตาหนอ” ถ้าได้กำหนดรู้อย่างนั้น ความง่วงนอนอาจจะหายไป และตาจะกลับมาสว่างอีกครั้ง ถ้าเป็นเช่นนั้น ให้กำหนดรู้ “ชัดหนอ-ชัดหนอ” และกลับไปกำหนดรู้ถึงการพองและการยุบของท้อง

IMG_9892 (002)_edited.jpg

อย่างไรก็ตาม แม้โยคีจะปฏิบัติสมาธิต่อไปด้วยความเพียรแต่ถ้าความง่วงที่แท้จริงมาเยือนโยคีก็จะหลับ เพราะไม่ใช่เรื่องยากที่จะหลับ จริงๆแล้วเป็นเรื่องง่ายด้วยซ้ำ ถ้าเจริญสมาธิอยู่ในท่านอนจะค่อยๆ ง่วงนอน และในที่สุดก็จะหลับไป นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้ที่เริ่มฝึกทำสมาธิใหม่ๆ ไม่ควรปฏิบัติในท่านอนมากเกินไป แต่ควรที่จะปฏิบัติในท่านั่งและท่าเดินมากกว่า แต่ถ้าเวลาล่วงเลยสู่ยามดึกและเป็นเวลานอน ก็ควรที่จะปฏิบัติสมาธิในท่านอนโดยกำหนดรู้ถึงการพองและการยุบของท้องซึ่งก็จะทำให้หลับไปตามธรรมชาติโดยอัตโนมัติ

            ช่วงเวลาของการนอนหลับเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนสำหรับโยคีแต่สำหรับโยคีที่มุ่งมั่นควรจะจำกัด ช่วงเวลาของการนอนไว้ที่ประมาณสี่ชั่วโมง ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืน ตามที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต เวลาสี่ชั่วโมงนับว่าเป็นช่วงเวลาที่เพียงพอ ถ้าผู้เริ่มฝึกสมาธิคิดว่าเวลาสี่ชั่วโมงสำหรับการนอนไม่เพียงพอต่อสุขภาพ ก็อาจขยายเป็นห้าหรือหกชั่วโมง การนอนหลับหกชั่วโมงนับว่าเพียงพออย่างยิ่งสำหรับสุขภาพ เมื่อโยคีรู้สึกตัวตื่น ควรที่จะทำการกำหนดรู้ทันที

            โยคีที่มุ่งมั่นที่จะบรรลุ มัคค และ ผลญาณ ควรหยุดพักความพยายามในการฝึกสมาธิเฉพาะตอนนอนหลับเท่านั้น ในช่วงเวลาอื่นที่ตื่นอยู่ ควรกำหนดรู้อย่างต่อเนื่องโดยไม่พัก นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทันทีที่ตื่นขึ้นต้องระลึกรู้ถึงขั้นตอนการตื่นไว้ในจิตว่า “ตื่นหนอ-ตื่นหนอ” ถ้าไม่สามารถทำตัวให้รู้ถึงภาวะนี้ได้ ก็ควรระลึกรู้ถึงการพองและการยุบของท้อง ถ้ามีความตั้งใจที่จะลุกจากเตียงก็ควรที่จะกำหนดรู้ “ตั้งใจลุกขึ้นหนอ-ตั้งใจลุกขึ้นหนอ” แล้วไปกำหนดรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถที่กระทำในขณะที่จัดแขนและขา เมื่อยกศีรษะและลุกขึ้นให้กำหนดรู้ “ลุกขึ้นหนอ-ลุกขึ้นหนอ” ถ้าเปลี่ยนอิริยาบถใดๆ เพื่อจัดท่าแขนและขา ให้กำหนดรู้ถึงอิริยาบถเหล่านี้ทั้งหมด ถ้าไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ มีแต่เพียงการนั่งสงบเงียบ ให้กลับไปกำหนดรู้อิริยาบถ การพองและการยุบของท้อง

            โยคีควรระลึกรู้ขณะที่ล้างหน้า และขณะที่อาบน้ำเนื่องด้วย อิริยาบถในการดำเนินการเหล่านี้ค่อนนข้างเร็ว ควรจะระลึกรู้อิริยาบถเหล่านั้น ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต่อจากนั้นเป็นอิริยาบถการแต่งตัว การเก็บเตียงให้เรียบร้อย การเปิดและปิดประตู เหล่านี้ควรได้รับการระลึกรู้อย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อโยคีรับประทานอาหารและมองไปที่โต๊ะอาหารควรกำหนดว่า “มองหนอ-เห็นหนอ” “มองหนอ-เห็นหนอ” เมื่อยื่นแขนไปที่อาหาร สัมผัสอาหาร หยิบและตักอาหาร ยกอาหาร และนำอาหารใส่ปาก ก้มศีรษะและใส่อาหารเข้าปากเป็นคำ ลดแขนลงและเงยศีรษะขึ้นอีกครั้ง ควรกำหนดอิริยาบถเหล่านี้ไปตามลำดับ

            คำแนะนำต่อไปนี้เป็นแนวทางของการระลึกรู้ตามแนวทางการรับประทานอาหารของพม่า ผู้ที่ใช้ช้อน และส้อมหรือตะเกียบควรระลึกรู้ถึงอิริยาบถให้เหมาะสม เมื่อเคี้ยวอาหารควรกำหนดว่า “เคี้ยวหนอ-เคี้ยวหนอ” เมื่อรู้รสอาหารควรภาวนาว่า “รู้หนอ-รู้หนอ” เมื่อชอบรสอาหารและกลืน ขณะที่อาหารผ่านลำคอควรกำหนดรู้ถึงอิริยาบถต่างๆ ที่เกิดขึ้น

            นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมโยคีจึงควรกำหนดรู้ถึงอาหารทุกคำที่รับประทานเข้าไป และขณะที่รับประทานแกงจืด อิริยาบถทั้งปวงที่เกี่ยวข้องได้แก่ การยื่นแขน การจับช้อนและการตักด้วยช้อนและอิริยาบถอื่นๆ อิริยาบถเหล่านี้ทั้ง่ปวงต้องถูกกำหนดอิริยาบถในช่วงเวลาอาหารเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีสภาวะมากมายที่ต้องกำหนด โยคีที่ฝึกใหม่มักจะลืมกำหนดรู้ได้ทั้งหมด แน่นอนโยคีไม่อาจจะกำหนดอิริยาบถที่ถูกมองข้ามหรือถูกลืมไป แต่ถ้า สมาธิ หรือความตั้งมั่นของจิตแก่กล้า โยคีจะสามารถที่จะกำหนดรู้อิริยาบถที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทั้งปวงได้ทั้งหมด

            ผมได้กล่าวถึงสิ่งต่างๆมากมายที่โยคีควรกำหนดแต่โดยสรุปแล้ว จะมีเพียงไม่กี่ประการเท่านั้นที่ต้องกำหนด ได้แก่

  • เมื่อเดินเร็วให้ภาวนาว่า “ขวา” และเมื่อเดินช้าให้ภาวนาว่า “ยกหนอ-เหยียบหนอ”

  • เมื่อนั่งเงียบๆ ให้เพียงแต่กำหนดรู้ถึงการพองและการยุบของท้องและทำเช่นเดียวกันนี้ในขณะเอนตัวลงนอนถ้าไม่มีภาวะอื่นเฉพาะที่จะต้องกำหนดรู้

  • ขณะที่กำหนดรู้อยู่นั้น ถ้าจิตล่องลอยไปที่ใด ให้กำหนดรู้ถึงภาวะที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ แล้วกลับไปที่การกำหนดรู้ การพองและการยุบของท้องต่อ

  • ให้กำหนดรู้ถึงความรู้สึกชา ความปวดเมื่อยและอาการคันที่เกิดขึ้นด้วย แล้วกลับไปที่การกำหนดรู้ถึงการพองและการยุบของท้องต่อ

  • ให้กำหนดรู้เช่นเดียวกันถึงการงอ การยืดและการเคลื่อนไหวของแขนขา การก้มและเงยศีรษะ การเอนและการตั้งตรงของลำตัวในขณะที่อิริยาบทเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วกลับไปภาวนาถึงการพองและการยุบของท้องต่อ

 

เมื่อโยคีได้กำหนดรู้สภาวะธรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่องโยคีจะสามารถกำหนดรู้ถึงภาวะที่เกิดขึ้นได้มากขึ้นและมากขึ้น

ในระยะแรก เมื่อจิตล่องลอยไปที่นี่และที่นั่น โยคีอาจจะพลาดการกำหนดรู้สภาวะหลายสภาวะ แต่โยคีไม่ควรหมดกำลังใจผู้ฝึกสมาธิใหม่ทุกคนต้องเผชิญกับความยากลำบากเช่นเดียวกันนี้แต่เมื่อฝึกปฏิบัติได้เชี่ยวชาญขึ้น ก็จะสามารถรู้ทุกๆภาวะที่จิตล่องลอย และในที่สุดจิตก็ไม่ล่องลอยไปอีกจิตจะถูกตรึงกับอารมณ์ที่ยึดไว้ และภาวะของความมีสติก็จะเกิดขึ้นเกือบจะเวลาเดียวกันกับอารมณ์ที่จิตยึดหน่วง เช่น การพองและการยุบของท้อง

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การพองของท้องจะเกิดขึ้นพร้อมกับการกำหนดรู้ภาวะนั้น และเช่นเดียวกันกับการยุบของท้อง

การใส่ใจภาวะทางกายและการกำหนดรู้ทางจิตจะเกิดควบคู่กันไป ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่มีบุคคลหรือปัจเจคบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง กล่าวคือ มีเฉพาะอารมณ์ที่ปรากฏทางกาย และการกำหนดรู้ทางจิตที่เกิดควบคู่กันเท่านั้น โยคีจะได้รับรู้ภาวะที่เกิดขึ้นเหล่านี้อย่างแท้จริงและเฉพาะตน ขณะที่กำหนดรู้การพองและการยุบของท้อง โยคีจะสามารถแยกแยะได้ว่าการพองของท้องเป็นปรากฏการณ์ทางจิต เช่นเดียวกันกับการยุบของท้อง ด้วยเหตุนี้โยคีจะเกิดความแจ่มแจ้ง เข้าใจถึงปรากฏการณ์ทางจิต กาย ที่เกิดขึ้นนี้ควบคู่กันไปในเวลาเดียวกัน

ดังนั้นในทุกๆภาวะของการระลึกรู้ โยคีจะรู้จักตนเองอย่างชัดแจ้งว่ามีแต่เพียงลักษณะทางวัตถุนี้เท่านั้น ที่เป็นอารมณ์ของการระลึกรู้หรือความใส่ใจ และมีคุณสมบัติทางจิตที่ระลึกรู้ภาวะเหล่านี้เท่านั้น ความรู้ที่สามารถแยกแยะได้นี้ เรียกว่า นามรูปปัจจยปริคคหญาณ ซึ่งเป็นขั้นเริ่มต้นของ วิปัสสนาญาณ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้นี้อย่างถูกต้อง

ถ้าโยคียังคงเจริญวิปัสสนาจนได้ความรู้ ที่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเหตุปัจจัย ก็จะบรรลุความสำเร็จขั้นต่อไปที่เรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ และเมื่อโยคียังคงเจริญการกำหนดรู้ต่อไปก็จะประจักษ์ด้วยตนเองว่าช่วงเวลาสั้นๆ มีการเกิดดับอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งคนธรรมดาสามัญจะเข้าใจเองว่าปรากฏการณ์ทางวัตถุและทางจิตจะดำเนินต่อไปจนถึงบั้นปลายชีวิต นั่นคือจากเด็กไปจนเป็นผู้ใหญ่ แท้ที่จริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น ไม่มีปรากฏการณ์ใดที่ยืนยงตลอดไป ปรากฏการณ์ทั้งปวงเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่ยืนยาวแม้แต่แค่เพียงกระพริบตา

            โยคีจะรู้ถึงภาวะนี้ด้วยตนเองถ้ายังคงเจริญการกำหนดรู้อยู่และจะตระหนักรู้ถึงความเป็นอนิจจังของปรากฏการณ์ดังกล่าว ความรู้ดังกล่าวนี้ เรียกว่า อนิจจนุปัสสนาญาณ และจะตามมาด้วย ทุกขนุปัสสนาญาณ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าความเป็นอนิจจังทั้งปวงนี้เป็นทุกข์ ดูเหมือนว่าโยคีได้เผชิญกับความยากลำบากทุกชนิดในร่างกายตน นี่คือทุกข์ในขันธ์ ซึ่งเรียกว่า ทุกขนุปัสสนาญาณ ขั้นต่อไปโยคีจะได้ตระหนักรู้ถึงปรากฏการณ์ทางจิต กายเหล่านี้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมันเอง ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของใครและไม่ขึ้นกับการควบคุมของใคร ปรากฏการณ์นั้นก่อให้เกิดความไม่เป็นปัจเจกบุคคลหรือความไม่มีตัวตน นี่คือ อนัตตนุปัสสนาญาณ ถ้าโยคียังคงเจริญสมาธิต่อ จะเข้าสู่ความรู้แจ้งว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ทั้งปวงคือ อนิจจา ทุกขา และ อนัตตา โยคีก็จะบรรลุสู่ พระนิพพาน

IMG_9895 (002).jpg

พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ และ พระอริยะ ทุกองค์ทั้งปวงในอดีตได้ทรงตระหนักว่า พระนิพพาน จะเกิดขึ้นตามมาจากการได้ปฏิบัติตามทางสายนี้ โยคีที่เจริญสมาธิทุกคนจึงควรรับรู้ว่า ณ ปัจจุบันท่านนั้นอยู่บนทางสายที่จะทำให้บรรลุ มัคคญาณ ญาณในสายอริยมรรค ผลญาณ ญาณในอริยผล และ พระนิพพานและตามมาด้วยความแก่กล้าของ บารมี หรือความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด โยคีควรยินดีต่อสิ่งนี้ และต่อความมุ่งหวังที่จะประสบกับสมาธิ ความสงบเยือกเย็นของจิตที่ได้มาจากความตั้งมั่นของจิตและ ญาณ ความหยั่งรู้หรือปัญญา ซึ่งได้ผ่านการประสบมาแล้วโดย พระพุทธเจ้า พระอรหันต์และพระอริยะ แต่ตัวโยคีเองยังไม่เคยประสบมาก่อน

            พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ และ พระอริยะ ได้ใช้เวลาไม่นานนักก่อนที่จะบรรลุ มัคคญาณ ผลญาณ และ พระนิพพาน ด้วยองค์เอง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วปัญญาเหล่านี้ สามารถจะบรรลุได้ภายในเวลาหนึ่งเดือน หรือยี่สิบวัน หรือสิบห้าวันของการฝึกปฏิบัติเจริญสมาธิของท่าน โดยเฉพาะผู้มีบารมีมากอาจจะบรรลุพระธรรมเหล่านี้ได้ภายในเวลาเจ็ดวัน

            ดังนั้นโยคีจึงควรมั่นคงในศรัทธาที่ว่าตนจะบรรลุ พระธรรม เหล่านี้ในช่วงเวลาที่ดังกล่าวข้างต้น โยคีจะหลุดพ้นจาก สักกายะทิฏฐิ หรือความเห็นว่าเป็นตัวของตน และ วิจิกิจฉา หรือความลังเลไม่แน่ใจและจะพ้นภัยอันตรายจากการที่จะต้องกลับมาเกิดในโลกอื่นๆ อีกจึงควรเจริญวิปัสสสนากรรมฐานด้วยความศรัทธานี้

            ขอให้ท่านทั้งหลายสามารถที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐานและบรรลุซึ่ง พระนิพพาน พระธรรมที่ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์และพระอริยะ ได้ประสบมาแล้วโดยเร็ว

bottom of page